ระบบการศึกษาที่เหลื่อมล้ำส่งผลต่อคุณภาพชีวิต
‘การศึกษา’ คือประตูแห่งการยกระดับชีวิต ยังลามไปถึงการยกระดับความเจริญให้แก่ประเทศชาติได้อีกด้วย เมื่อคนในชาติมีความรู้ ความสามารถ ก็ย่อมเปรียบเสมือนแรงขับขนาดใหญ่อันทำให้ประเทศรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว แต่เมื่อเกิด ‘ ระบบการศึกษาที่เหลื่อมล้ำ ’ มันก็ย่อมส่งผลในทางลบได้อย่างมหาศาล
นั่นก็เป็นเพราะว่า คนเรียนมาน้อยจะขาดโอกาสในการเข้าถึงงานดีๆ มีรายได้สูง แต่ในขณะเดียวกันคนมีเงินจะได้รับโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมมากกว่า นี่แหละคือต้นกำเนิดของช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวย ซึ่งส่งผลไปยังการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัญหาของประเทศไทยในขณะนี้
จากข้อมูลผลสำรวจของ SIRNET ได้ทำให้เราเห็นถึงสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของการศึกษาไทย ในปี พ.ศ. 2556 ว่าเกิดความเหลื่อมล้ำเพิ่มมากขึ้น ส่วนข้อมูลชวนตกตะลึงอีกอย่าง คือ เด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ได้เลิกเรียนกลางคันสูงขึ้น และเด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 แค่ 50 % เท่านั้นที่จะก้าวเข้าไปเรียนต่อในระดับปริญญา โทษของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษายังไม่หมดเพียงเท่านี้ แต่ยังส่งผลไปถึงการสูญเสียงบประมาณทางด้านการแพทย์ รวมทั้งเกิดความเหลื่อมล้ำทางด้านการรักษาพยาบาลอีกด้วย ปัจจัยเหล่านี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงระบบการศึกษาของไทยที่ยังเดินหลงทาง ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะทุ่มงบประมาณทางด้านการศึกษาไปเป็นจำนวนมาก แต่ก็ยังไม่มีอะไรดีขึ้น
โดย แบ๊งค์ งามอรุณโชติ นักวิชาการแห่ง SIRNET ได้ออมาอธิบายถึงงานวิจัยทางด้านสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของการศึกษาไทย ซึ่งเขาให้คำแนะนำในเบื้องต้นว่า ‘ รัฐบาลควรมุ่งให้ความสำคัญกับปัจจัยเหล่านี้ให้มากขึ้น ได้แก่ เพศ , พื้นที่ , กลุ่มอายุ เนื่องจากกลุ่มเหล่านี้ในปัจจุบัน จากการวิจัยพบว่าได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างไม่เท่าเทียมกับกลุ่มอื่นๆ นอกจากนี้ควร เพิ่มประสิทธิภาพทางการศึกษาให้สูงขึ้น และช่วยกันสร้างระบบความรับผิดชอบที่ดี รวมถึง กระทรวงศึกษาธิการควรจัดทำยุทธศาสตร์ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของไทย ระหว่างกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ’
และประเด็นเรื่องการสูญเสียงบประมาณทางด้านการแพทย์ ก็มาจากปัญหาทางสุขภาพของเยาวชนไทยส่วนใหญ่ มาจากทักษะชีวิตที่ไม่ได้รับการศึกษา ไม่มีประสบการณ์ จนก่อให้เกิดปัญหายาเสพติด ความรุนแรงในครอบครัว คุณแม่วัยใส อายุโดยเฉลี่ยของความเป็นแม่ลดน้อยลงทุกที แต่วัยวุฒิกลับไม่พร้อมตามขึ้นไปด้วย และจากปัญหาทางเศรษฐกิจจึงทำให้พ่อ-แม่ต้องทิ้งลูกเล็กเพื่อออกมาทำงานหาเงิน จึงทำให้เห็นแล้วว่าหลักพึ่งพิงของคนกลุ่มนี้คือโรงเรียน แต่ในโรงเรียนของไทยทุกวันนี้ เป็นการแสวงหาผู้ชนะจากการแข่งขัน เป็นการแสวงหาผู้มีความเป็นเลิศเพียงไม่กี่คนเท่านั้น เพราะฉะนั้นการปรับเป้าหมายในการเรียนรู้ในโรงเรียนเพื่อให้มีทักษะชีวิตที่ดีขึ้น เคียงคู่ไปกับด้านวิชาการ ก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน